WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม 2567 ติดต่อเรา
สมาคมประกันวินาศภัยไทย เร่งหาข้อสรุปกระบวนการซ่อม-ค่าขาดประโยชน์ รถยนต์ EV

2 กุมภาพันธ์ 2567 : นายสุวัฒน์ ระดมสุทธิกุล รองประธานคณะกรรมการ ประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากการเสวนาถึงประเด็นความคุ้มครองรถยนต์ไฟฟ้า ตามกรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอ้ตราเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้า : Battery Electric Vehicle (BEV) ที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 มิถุนายน 2567 นี้นั้น ยังมีเรื่องที่ยังต้องทำความตกลงกันในอีกหลายประเด็น และเรื่องที่น่ากังวลและยังไม่ได้ข้อสรุป คือ กระบวนการซ่อมรถยนต์ EV รวมถึงค่าขาดประโยชน์รถหว่างรถเข้าซ่อมของผู้เอาประกันภัย และการต้องเร่งฝึกทีมพนักงานสำรวจภัยรถ EV

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสมาคมฯ จึงกำหนดให้นำกระบวนการซ่อมจากรถยนต์สันดาป มาปรับใช้ไปก่อน โดยรถยนต์สันดาปนั้นมีการพิจารณาการซ่อมไว้ ตามความเสียหายของตัวรถยนต์ ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ S, M และ L กล่าวคือ ระดับ S รถยนต์เสียหายตั้งแต่ 1-5 ชิ้น ระดับ M รถยนต์เสียหายตั้งแต่ 5 ชิ้นขึ้นไป และระดับ L เสียหายหนักสุดหรือเสียหายทั้งคัน เป็นต้น

รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่งเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ดังนั้น จึงยังไม่มีสถิติในการคิดคำนวณอัตราเสียหายของอะไหล่รถยนต์แต่ละจุด แต่ละด้าน บริษัทประกันภัยจึงต้องทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กับบริษัทรถยนต์ที่นำเข้ามาจำหน่ายในแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อดังนั้น เมื่อรถยนต์ไฟฟ้า EV เกิดอุบัติเหตุ ก่อนที่จะมาถึงขั้นตอนการเข้าซ่อม ยังมีกระบวนการดำเนินการ พิจารณาสินไหมหรือตีราคาค่าซ่อมก่อนที่จะรับการซ่อม ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นระดับ S ที่ซ่อมไม่เกิน 5 ชิ้น แต่จะใช้ระยะเวลาการซ่อมกี่วัน เนื่องจากต้องพิจารณาถึงอะไหล่ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เป็นต้น

“ยกตัวอย่าง หากมีรถยนต์ที่ทำประกันรถ EV ชนกัน การเจรจาระหว่างบริษัทกับบริษัท เช่น รถบริษัท A ชนกับรถบริษัท B นอกจากระยะเวลาการเข้าซ่อมแล้ว ก่อนหน้านั้นจะมีเรื่องระยะเวลาการเสนอราคาค่าซ่อม การอนุมัติราคา ซึ่งตรงจุดนี้ ทางคปภ.มองว่า ควรจะต้องนำมารวมกับระยะเวลาการจัดซ่อมด้วย ยกตัวอย่าง เมื่อรถเกิดเหตุเฉี่ยวชน แล้วนำรถเข้าอู่ ซึ่งยังไม่ได้ซ่อมทันที ทางอู่ จะต้องดำเนินการเสนอราคาค่าซ่อมมายังบริษัทก่อน (รถยนต์สันดาปใช้เวลาภายพิจารณาภายใน 24 ชั่วโมง) เพื่อพิจารณาระดับของความเสียหายว่าจะเป็น S M หรือ L ก่อนรับการซ่อม เมื่อรวมกันแล้วเป็นระยะเวลาการซ่อม หลังจากนั้นก็พิจารณาว่ามีอะไหล่พร้อมซ่อมหรือไม่ จึงต้องประสานกับบริษัทที่นำเข้ารถยนต์ EV หากไม่ได้สต็อกอะไหล่ไว้ ขั้นตอนการสั่งอะไหล่ใช้ระยะเวลากี่วัน จึงจะสามารถนำเข้ามายังอู่เพื่อจัดซ่อมต่อไป ซึ่งประเด็นนี้ต้องหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อควบคุมระยะเวลาการซ่อมที่ชัดเจน”

นายสุวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทางด้านผู้เอาประกัน เมื่อนำรถเข้าซ่อมแล้ว ระยะเวลาที่ขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมนั้น ก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาเช่นกัน ขณะนี้ก็นำแบบอย่างของรถยนต์สันดาปมาปรับใช้ ที่มีการคิดค่าขาดประโยชน์ไว้ดังนี้ สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล 500 บาท/วัน รถแท็กซี่ 700 บาท/วัน และรถตู้ 1,000 บาท/วัน ซึ่งมีการระบุไว้ในกรณีที่มีผู้มาทำละเมิด โดยผู้เอาประกันจะต้องเป็นฝ่ายถูก ถึงจะมีสิทธิ์ในการได้รับค่าขาดประโยชน์ข้างต้น แต่สำหรับกรณีเป็นฝ่ายผิดหรือขับรถไปเฉี่ยวชนคนอื่น บริษัทประกันก็อาจจะมีการเจรจากันเอง แต่สำหรับรถยนต์ EV ยังไม่ได้มีการระบุไว้ จึงต้องพิจารณาหาข้อสรุปกันต่อไปในอนาคต

อีกประการหนึ่งประเด็นที่ยังต้องเร่งดำเนินการคือ ฝึกอบรมพนักงานสำรวจภัย เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านการทำเคลมหากมีรถยนต์ EV เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน โดยพนักงานจะต้องดำเนินการอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอน สิ่งใดควรระมัดระวังเมื่อถึงจุดเกิดเหตุ สิ่งใดสัมผัสได้ หรือห้ามสัมผัสรถยนต์ เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย แต่ขณะนี้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านรถยนต์ EV ยังไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งให้ความรู้ทำความเข้าใจร่วมกับบริษัทที่นำรถยนต์เข้ามาจำหน่ายไปพร้อมๆ กัน 

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP