WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 5 พฤษภาคม 2567 ติดต่อเรา
HRDD เครื่องมือดันธุรกิจบจ.สู่ความยั่งยืน

22 เมษายน 2567 : จาก “รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2567” ที่จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก พบว่า โลกเราต้องเผชิญ “ความเสี่ยง” รอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี โดยประเมินกันว่าความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความเสี่ยงจากการแบ่งขั้วทางสังคมและการเมือง ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว

ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ตั้งเป้าผลักดันธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สู่ความยั่งยืน หลังจากหลายประเทศยังมีมาตรการต่างๆ รวมทั้งการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปี 2567 สหภาพยุโรป (EU) ออกกฎหมาย Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) และยังอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและสอบทานการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพัฒนาการของกฎหมายเหล่านี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนทั้งบริษัทขนาดใหญ่ใน EU บริษัทข้ามชาติ ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. จึงมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา “ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน” และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มี ESG รวมถึงเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจแล้ว ยังช่วยให้สามารถตอบสนองต่อพัฒนาการด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสร้างแรงดึงดูดต่อนักลงทุนที่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้ รวมทั้งสามารถสื่อสารการดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจน โดยช่องทางหนึ่งที่สำคัญคือ การเปิดเผยในแบบ 56-1 One report บริษัทจดทะเบียนจึงควรนำกระบวนการตามแนวทางการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ( HRDD) มาปรับใช้ร่วมด้วย

เพื่อให้ทราบถึงสถานะของการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าอันจะทำให้สามารถระบุ ป้องกัน บรรเทา และจัดการกับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในการดำเนินงาน โดยแนวทางการตรวจสอบสถานะสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านสำหรับบริษัทจดทะเบียน ซึ่ง ก.ล.ต. ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้นได้กล่าวถึงหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ที่ระบุขอบเขตและหลักการสำคัญเกี่ยวกับ HRDD ดังนี้

1. การจัดทำ HRDD ควรครอบคลุมถึงผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งที่องค์กรธุรกิจ เป็นผู้ก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้เกิดขึ้น จากกิจกรรมขององค์กรธุรกิจเอง หรือที่กระทำโดยพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการดำเนินการ ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรธุรกิจนั้น

2. การจัดทำ HRDD ของแต่ละองค์กรธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะแบบเดียวกัน ย่อมมีความต่างกันตามความซับซ้อนของขนาดขององค์กร ความเสี่ยงของระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และสภาพกับบริบทการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร

3. การจัดทำ HRDD ควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และบริบทในการดำเนินการขององค์กร 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP