WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม 2567 ติดต่อเรา
Auto Technopolis แรงผลักดันใหม่ของยานยนต์ไทย!!!

กรุงเทพฯ 16 มิถุนายน 2559 : Auto Technopolis คืบหน้าหลังครม. เห็นชอบการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ อีไอซีมองว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับปรุงด้านความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ยั่งยืนต่อไป ส่วนด้านผู้ผลิตชิ้นส่วนมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วน ต้องยกระดับตัวเองในห่วงโซ่มูลค่า และใช้ประโยชน์จากโครงการ Auto Technopolis ให้เต็มที่โดยเฉพาะในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

นายนันทพงศ์ พันทวีศักดิ์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มองว่า Auto Technopolis คืบหน้าหลังครม. เห็นชอบหลักการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยวงเงินงบประมาณ 3.6 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยติดปัญหาด้านพื้นที่ตั้ง โดยปัจจุบัน ศูนย์ทดสอบดังกล่าวอยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์ พร้อมจัดสรรงบประมาณและเตรียมสร้างลู่วิ่งทดสอบและห้องทดสอบยางล้อ ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ภายในปี 2018

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ NIKKEI รายงานว่า JICA รับเป็นตัวกลางในประสานงานในการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งจะสรุปรายงานเพื่อนำเสนอแก่รัฐบาลไทยภายในตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการในเฟส 2 เพื่อทดสอบตามมาตรฐานบังคับภายใต้ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนเฟส 3 อยู่ระหว่างศึกษาการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างศูนย์ทดสอบนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในแผนยุทธศาสตร์ของโครงการ Auto Technopolis เท่านั้น ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อดำเนินการรวมศูนย์ของสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ด้านเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม การวิจัยและออกแบบ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร อีกทั้ง ยังมีความเป็นไปได้ว่าจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเชื่อมโยงเป็นลักษณะคลัสเตอร์และสนับสนุนธุรกิจยานยนต์ที่มีอยู่ในแล้วในรัศมี 150 กิโลเมตร

thumbnail_EIC_infographic_auto_technopolis

อีไอซีมองว่า ศูนย์ทดสอบข้างต้นจะช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของหนังสือพิมพ์ NIKKEI ว่า การมีศูนย์ทดสอบในประเทศจะช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนารถรุ่นใหม่ และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและภาษีที่เกิดจากการส่งรถไปทดสอบที่ญี่ปุ่น อีกทั้ง ยังเป็นการรวมศูนย์ของสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ จากรายงานของ ADB เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในปี 2015 พบว่าไทยยังมีข้อท้าทายในด้านเทคโนโลยีอยู่มาก เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์
ส่วนใหญ่มีการดำเนินการในลักษณะของการรับจ้างผลิต ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนซึ่งอยู่ในเทียร์ที่ต่ำลงมาก็ไม่ได้มีงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นของตนเอง หากแต่ใช้เทคโนโลยีของพันธมิตรจากต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านวิจัยของไทยที่ต่ำกว่ามาเลเซีย จีนหรือเกาหลี (0.25% ต่อ GDP เทียบกับ 1.07% 1.98% และ 4.04% ต่อ GDP ตามลำดับ) โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อเครื่องจักรใหม่มากกว่าสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ (18% เทียบกับ 10%)

นอกจากนี้ สัดส่วนการวิจัยของภาคเอกชนก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าครึ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยรับจ้างผลิตอยู่ โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านวิจัยนั้นอยู่ที่ประมาณ 8% และ 2% ตามลำดับ เทียบกับน้ำมันหรืออาหารซึ่งอยู่ที่ 23% และ 16% ตามลำดับ ทั้งนี้ นับเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในกรณีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากการที่ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองทำให้ไม่สามารถปรับตัวหรือต่อยอดได้ เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทำให้อนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าวอาจจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ทั้งจากความต้องการการใช้งานคอมพิวเตอร์ของโลกที่ลดลงและการแทนที่เทคโนโลยี HDD ด้วย SSD

แต่ที่สำคัญกว่าคือ ไทยต้องรักษาและเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และแข่งขันให้ได้ในระยะต่อไป เนื่องจากตลาดในประเทศของไทยเป็นตลาดขนาดเล็ก มีความจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เพื่อรักษาปริมาณการผลิตไว้ให้ได้ เพื่อที่ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ค่ายรถต่างๆ ตัดสินใจเลือกใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ นอกจากนี้ หากมีปริมาณการผลิตที่มากพอก็จะนำไปสู่การผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถรุ่นนั้นๆ ในประเทศต่อไป จนในที่สุดจะสามารถส่งออกได้ทั้งตัวรถและชิ้นส่วน

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนากำลังมีมากขึ้นและเป็นที่ต้องการอย่างมากของบริษัทเอกชน เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาของโตโยต้าหรือนิสสัน อีกทั้ง ในกรณีความร่วมมือระหว่างมาสด้ากับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เพื่อยกระดับการผลิตชิ้นส่วนให้เป็นรูปแบบของตัวเอง ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการควรมีลักษณะสอดคล้องและสนับสนุนโครงการอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในขั้นตอนการดำเนินงานจริงต่อไปในอนาคต

อีไอซีแนะผู้ผลิตชิ้นส่วนทำการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ พร้อมทั้งยกระดับตัวเองในห่วงโซ่มูลค่าและให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องทำในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคหรือโลกได้ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดชิ้นส่วนทดแทนในตลาดอาเซียนให้ได้ในช่วงแรก หรือการต่อยอดเทคโนโลยีออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นต้น

รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนควรใช้ประโยชน์จากโครงการ Auto Technopolis อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในด้านการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ได้บุคลากรที่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในด้านการวิจัยพัฒนาและออกแบบ รวมไปถึงความสามารถด้านไอทีในการสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ต่อไป

รถยนต์ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP