WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม 2567 ติดต่อเรา
จับตา…ค่าไฟฟ้า ออกหัวหรือออกก้อย!

26 ธันวาคม 2565 : แผนการปรับขึ้นค่าไฟ Ft เดือน มกราคม-เมษายน 2566 ของภาครัฐ ทำให้หลายคนกลุ่มขมับ ในภาวะข้าวของราคาแพงนอกจากจะกดดันเงินในกระเป๋าผู้มีรายได้น้อยแล้ว การปรับขึ้นค่าไฟเหมือน “ผีซ้ำด้ำพลอย” ก็ไม่ปาน ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดยผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้ ถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟ และข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม การค้า และบริการ การเงิน ขึ้น

โดย กกร.ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน ได้สะท้อนความกังวลจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เน้นย้ำว่าภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟสูง เพราะนอกจากจะกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้แจงถึงผลกระทบและข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการ การเงินว่า ภาครัฐควรพิจารณามาตรการการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงอย่างเร่งด่วน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้มีการติดตามถึงสถานการณ์ความผันผวนและราคาพลังงาน รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมาโดยตลอด และจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีมติเสนอให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่า Ft เดือน มกราคม-เมษายน 2566 ออกไปก่อน

เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การปรับขึ้น-ลงค่าไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และโอกาสการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย การปรับค่า Ft แม้จะมีการปรับเพิ่มต่อเนื่องจนในปัจจุบันอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนรองรับได้ แต่การปรับที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

กระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก 3.0% อาจแตะที่ 3.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น ยิ่งจะซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น ดังนั้น นอกเหนือจากการส่งข้อเสนอไปยังภาครัฐบาลแล้ว ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน จำเป็นต้องมีการปรับตัวในการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเช่นกัน

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 กกร.ยังได้ยื่นเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือนมกราคม - เมษายน 2566 แล้ว ครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทนและภาครัฐควรเจรจาลดค่า AP จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง

2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ. ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) แบบขั้นบันได สำหรับผู้ใช้ไฟน้อย ก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟเยอะ ให้จัดเก็บคนละอัตรา เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2 - 3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น

4.เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่พึ่งพาจากแก๊สธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น โดยส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกิน กลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง.4 ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปรกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าของแผง Solar Cell และอุปกรณ์เช่น Inverter และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบ Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ

5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)

สำหรับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟในแต่ละภาคอุตสาหกรรมและการบริการ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “เรากำลังประสบวิกฤติซ้อนวิกฤติ ในขณะที่เพิ่งฟื้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงทุกภาคส่วน สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งขนาดใหญ่และ SMEs มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก ที่ผ่านมา ได้พยายามปรับตัวมาตลอด เช่น การใช้พลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่า Ft จะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที

โดยในระยะสั้น ราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ระยะยาว ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120% ขอบคุณรัฐบาลที่เข้าใจสถานการณ์และเห็นใจประชาชน จึงนำเรื่องการปรับค่า Ft มาพิจารณาอีกครั้ง ผมเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และทำให้ไทยยังคงมีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก 

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP