WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม 2567 ติดต่อเรา
ธุรกิจไทยเดินหน้าลงทุน แม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่

29 พฤษภาคม 2566 : ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้ค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว หากไม่รวมกับการสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นปมร้อนในขณะนี้ โดยกูรูส่วนใหญ่มองเชิงบวก ขณะเดียวกันธุรกิจไทยหลายแห่ง ก็เดินหน้าลงทุนเพื่อรับมือกับความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนเม.ย.2566 อยู่ที่ระดับร้อยละ 55.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.2563

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 49.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ร้อยละ 52.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ร้อยละ 63.6 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.2566 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่

1.บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
2.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น
3.ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
4.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับลดลง
5.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่ามีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ

จากรายงานดังกล่าว ทำให้ Stripe ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับธุรกิจ ออกมาตอกย้ำการเติบโตของธุรกิจว่า จากผลสำรวจ พบว่า ธุรกิจไทยมีความมั่นใจในการเติบโตของตนเองมากกว่า ภาวะเเศรษฐกิจในวงกว้าง ในรายงานยังแสดงข้อมูลเชิงลึกถึงแนวทางที่ทำให้ธุรกิจไทยสามารถขยาย และได้ประโยชน์จากโอกาสการเติบโตในระดับโลกเพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายในอนาคตระหว่างปี 2566 และปีต่อๆ ไป

รายงานนี้อ้างอิงจากการสำรวจผู้นำธุรกิจจำนวน 2,500 รายจาก 9 ประเทศ พบว่าธุรกิจจำนวน 65% มีความมั่นใจในธุรกิจตัวเองว่าสามารถเติบโตได้ในปี 2566 แม้ว่า 80% จะมีทัศนคติเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆจัดอันดับให้เงินเฟ้อเป็นความกังวลสูงสุด และ 72% ชี้ว่าต้นทุนการดำเนินงานสูงกว่าปีที่แล้ว จากเหตุการณ์นี้ รายงานพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มรุกด้วยการทดลองใช้โซลูชัน และแหล่งรายได้ใหม่ๆ หลายๆ ธุรกิจเริ่มหันมาใช้เครื่องมือการรับชำระเงินเพื่อช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็มองหาวิธีทำให้งานด้านการเงินให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้นเพื่อที่จะควบคุมต้นทุน

ขณะที่ นายธีร์ ฉายากุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย บริษัท Stripe ประเทศไทย กล่าวว่า คุณไม่สามารถพยายามตัดต้นทุนอย่างเดียวให้รอดพ้นจากวิกฤตได้ จากเหตุการณ์ชะลอตัวที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆที่ประสบความสำเร็จมีการเสี่ยงขยายธุรกิจ พร้อมไปกับการลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำในช่วงที่สภาพการเงินตึงตัว แต่โลกออนไลน์นั้นมีธุรกิจอีกมากมายที่สามารถใช้กลยุทธ์นี้ได้ในครั้งนี้

ธุรกิจไทยสามารถทำการประเมินและนำประเด็นสำคัญที่พบเจอในรายงานไปใช้เพื่อเพิ่มรายรับทางออนไลน์ได้ ดังนี้

1.การรับชำระเงินออนไลน์ยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ในการขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้ ธุรกิจเกือบสองในสามเห็นพ้องตรงกันว่าการรับชำระเงินออนไลน์ได้สร้างวิธีใหม่ๆ ในการหารายได้ และ 71% ยอมรับว่าความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อประสบการณ์การชำระเงินที่ราบรื่นนั้นเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ธุรกิจจำนวนมากจึงให้ความสำคัญกับเครื่องมือรับชำระเงินที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มยอดขาย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่นๆจำนวนมากกำลังเสียโอกาสโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีการรับชำระเงินอย่างเต็มที่ ผลการวิจัยของ Stripe ก่อนนี้ เปิดเผยว่าลูกค้า 3 ใน 4 มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าเมื่อมีการให้บริการชำระเงินด้วยคลิกเดียว ขณะเดียวกันตามรายงานข้อมูลเชิงลึกปี 2566 พบว่า ครึ่งหนึ่งของธุรกิจทั้งหมดกล่าวว่าพวกเขายังไม่ได้ศึกษาการชำระเงินออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายอย่างเต็มที่

2.ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจไทยต้องหาวิธีขยายโอกาส ธุรกิจกว่า 60% กำลังใช้ประโยชน์จากการชะลอตัวในปัจจุบันเพื่อทดลองวิธีใหม่ๆ ในการเพิ่มรายได้ทางออนไลน์ หลายคนกำลังใช้เครื่องมือที่เปิดแหล่งรายได้ใหม่โดยไม่ต้องลงทุนล่วงหน้าที่มีนัยสำคัญ รูปแบบกระแสรายได้ใหม่บางรูปแบบที่ธุรกิจต่างๆ ติดตาม ได้แก่ การเปิดใช้งานโปรแกรมสมาชิก (loyalty program)ประสบการณ์การขายที่เชื่อมโยงช่องทางการขายทั้งหมดไว้ที่เดียว (unified commerce experience) และระบบรับการจ่ายเงินแบบตามรอบ (subscription) เพื่อให้ธุรกิจได้รับรายได้ประจำ

ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือล่าสุดระหว่าง Stripe และ ซาร่า (Zara) แบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่เปิดให้บริการแพลตฟอร์ม Zara Pre-Owned สำหรับซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองระหว่างลูกค้าด้วยกันโดยใช้ Stripe Connect ซึ่งเป็นโซลูชันการชำระเงินสำหรับแพลตฟอร์มและมาร์เก็ตเพลส แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมในการเพิ่มรายได้ โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

หลายธุรกิจมุ่งที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่ไม่ลดการลงทุนไปกับสินทรัพย์ถาวรของบริษัท นั่นเพราะต้องการที่จะรักษาแผนสำหรับการเติบโตเอาไว้ 2 ใน 3 ของธุรกิจ กล่าวว่า พวกเขามีวิธีรับมือกับภาวะเงินเฟ้อโดยการใช้วิธีการลดต้นทุนลง ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ กำลังเลือกว่าจะตัดค่าใช้จ่ายส่วนไหน น้อยกว่า 20% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแผนจะลดการใช้จ่ายในส่วนของผลิตภัณฑ์หรือบริการหลัก และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการลดอัตราการจ้างงาน

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าธุรกิจกำลังลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง โดย 51% กำลังให้ความสำคัญกับการเจรจาต่อรองกับคู่ค้าเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด และ 70% มีผู้ตอบแบบสอบถามกำลังวางแผนที่จะลดจำนวนบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ที่พวกเขาใช้ลง

หลายคนมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ และเมื่อบริษัทเหล่านั้นถูกขอให้ระบุเหตุผลว่าอะไรคือปัจจัยหลักที่ทำพวกเขาให้ตัดสินใจรวมผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ลง พวกเขาอาจจะหยิบยกประเด็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นมาเป็นเหตุผลหลัก เช่นเดียวกันกับที่พวกเขาให้เหตุผลว่าต้องการลดต้นทุนของบริษัทลง

ขณะที่ โจนาธาน กาน (Jonathan Gan) หัวหน้างานฝ่ายบัญชีรายรับของ Slack กล่าวว่า ทีมของผมต้องทำธุรกรรมการเงินหลายล้านรายการซึ่งเกี่ยวโยงกับการชำระเงินด้วยบัตร การโอนเงินผ่านธนาคาร ใบแจ้งหนี้ และอื่นๆ แต่ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือของ Stripe เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้เราประหยัดเวลาในส่วนนี้ เพื่อมีเวลามากขึ้นในการวางกลยุทธ์ และมองภาพรวมของธุรกิจ เราจึงสามารถดำเนินงานแบบอัตโนมัติและเร่งทำรายงานทางการเงินที่ Slack ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น 

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP