26 กันยายน 2567 : หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ระหว่าง 4.75-5.00% การตัดสินใจดังกล่าวเฟดมองว่าน่าจะช่วยส่งเสริมการกระตุ้นตลาดแรงงาน ขณะที่สัญญาณของภาวะเงินเฟ้อดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทาง นายเจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงถึงการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นทิศทางบวกและความเหมาะสมของการปรับเปลี่ยนนโยบายของเฟด
ขณะที่ตลาดแรงงานมีความเข้มแข็งท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับปานกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงใกล้ถึงระดับ 2% ตามเป้าหมายของเฟด โดยยังสูงกว่าเพียง 0.5% ขณะเดียวกัน พร้อมส่งสัญญาณว่าตราดอกเบี้ยจะลดลงอีก 0.5% ภายในสิ้นปีนี้ และจะลดลงอีก 1% ในปี 2568 ตามด้วยการลดลงอีก 0.5% ในปี 2569 ในท้ายที่สุดอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ตัวเลข 2.75-3.00% ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนก.ค.2567 เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ตัวเลข 5.25-5.50% ซึ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 18 เดือน เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี เมื่อปี 2022
จากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ลดลงชัดเจนและแรงในครั้งนี้ ทำให้หลายคนเริ่มกลับมามั่นใจมากขึ้นว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีขึ้นในนัดถัดไปในวันที่ 16 ต.ค. 2567 มีโอกาสสูงที่จะปรับดอกเบี้ยลงตามเฟด ขณะที่การประชุมกนง.รอบล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 21 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงดอกเบี้ยของไทยว่า กรณีที่ตลาดคาดการณ์ว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะมีผลต่อการตัดสินใจในการลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยหรือไม่ มองว่า กนง.มีความเป็นอิสระ แต่ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า ถ้าประเทศมหาอำนาจปรับลดดอกเบี้ย นโยบายดอกเบี้ยไทยก็ควรไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกันนี้ได้มีการนัดหมาย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือถึงกรอบเงินเฟ้อปี 2568 ไว้เรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งทางด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาจี้แบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยเช่นกัน โดยระบุว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมนัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเร็วๆ นี้ โดยมี 3 เรื่องที่จะเสนอให้ ธปท.ช่วยดูแลเศรษฐกิจและภาคการส่งออกได้แก่
1. การลดดอกเบี้ย เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อลดลง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ลดดอกเบี้ย ดังนั้น ธปท.จึงควรปรับดอกเบี้ยลงเช่นกัน 2. ดูแลเงินบาทที่แข็งค่าเร็วมาอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ โดยแข็งค่าขึ้นถึง 5-6% ภายในเดือนเดียว ส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีกำไรน้อยอยู่แล้ว 3. การเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งเป็นความเดือดร้อนที่ต่อเนื่องมาจากผลกระทบในช่วงโควิด
"ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วมาก และดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ขณะที่ GDP โตเพียง 1.9% คนจนลำบากมาก ผมงงกับคำพูดของผู้ว่าฯ ธปท. ที่บอกว่าประเทศไทยไม่ต้องเน้น GDP ไม่รู้ท่านจบจากไหน ทำไมถึงไม่รู้เรื่อง ทำไมถึงจะไม่เน้น GDP เพราะ GDP คือรายได้ ตอนนี้คนจนไม่มีรายได้ มีแต่หนี้สิน แล้วจะมีความสุขได้อย่างไร GDP ของประเทศที่เติบโต 1.9% ส่วนใหญ่เป็นรายได้ของเศรษฐี คนจนแทบไม่มีส่วนเลย ธปท.ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำให้อย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ไม่ใช่มีหน้าที่แค่กำกับดูแลอย่างเดียว หรือพอรัฐบาลจะทำอะไร ก็จะคอยแต่ค้าน"นายพิชัย กล่าว
ขณะที่ทางด้าน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมากล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด พร้อมกับชี้แจงว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ว่า กรณีเฟดไม่ใช่ว่าเฟดลดแล้วเราต้องลด การที่เฟดลดดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อปัจจัยหลายด้าน ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย
"ถ้าเราเป็นประเทศที่ยึดค่าเงินไว้กับดอลลาร์ เหมือนฮ่องกง หรือในตะวันออกกลางบางประเทศ ถ้าเฟดลดดอกเบี้ย ก็จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตาม แต่เราไม่ใช่แบบนั้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท . ยังคงเน้นจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลักใน 3 ปัจจัย คือ แนวโน้มเศรษฐกิจว่าสามารถเติบโตได้ถึงศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อ จะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ และเสถียรภาพด้านการเงิน แต่การพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ ก็หนีไม่พ้นต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วย หนึ่งในนั้น คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกควบคู่กันด้วย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในภาพรวม ที่ต้องคำนึงถึงผ่าน 3 ปัจจัยนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการตัดสินใจต่อนโยบายดอกเบี้ยของไทยจาก 3 ปัจจัยดังกล่าว ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสิ่งที่ทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท .ได้เคยประเมินไว้ โดยยังคง Outlook Dependent ซึ่งเชื่อว่าเป็นกรอบการตัดสินใจที่เหมาะสม ถูกต้อง
"ที่อื่นเน้น data dependent แต่มันสร้าง noise ต่อตลาดเยอะ ถ้าเราโฟกัสข้อมูลล่าสุดมากเกินไป เป็นอะไรที่มีความผันผวน ไม่แน่นอนเยอะอยู่แล้ว เราไม่อยากให้การคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบาย ไปซ้ำเติมเรื่องความผันผวน การ re act กับข้อมูลล่าสุดมากไปเป็นอะไรไม่เหมาะสม เราจึงเน้น outlook dependent แต่ก็ไม่ใช่ยึดติด แต่หาก outlook เปลี่ยน เราก็พร้อมที่จะปรับนโยบายดอกเบี้ย" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ต้องคำนึงว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระหนี้เดิม กับสินเชื่อใหม่ที่จะเกิดขึ้น และอยากฝากว่า การลดดอกเบี้ยนั้น ผลที่จะส่งต่อไปยังการลดภาระหนี้อาจจะไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การปรับลดดอกเบี้ย ผลที่จะได้รับอาจไม่มากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้ และจะคาดหวังว่าดอกเบี้ยลงแล้ว ภาระหนี้จะลดลงทันที คงไม่ใช่
"ดอกเบี้ยเป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือที่มี เราใช้เครื่องมือทางการเงินหลายอย่างในการทำงาน เป็น policy mix เรื่องดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งในมาตรการที่ทำ เช่น การลดภาระหนี้คน กลุ่มเปราะบางจริงๆ ถ้าจะลดภาระให้เขา การลดดอกเบี้ย ผลอาจไม่ได้มากเท่าปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ ธปท .ดำเนินการ ดอกเบี้ย เป็นยาที่กระทบวงกว้างหลายด้าน การใช้ยาเฉพาะจุด ตรงจุด จะเหมาะสมกว่า" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว