6 กุมภาพันธ์ 2560 : นายกฯโยนลูกให้คลังแจงฐานะการคลังของรัฐบาล “รมว.คลัง” ยัน คลังยังแกร่งไร้กรมฯถังแตก เหตุขึ้นภาษีน้ำมันเพราะหวังลดความเหลื่อมล้ำ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ล่าสุด ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังชี้แจงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่มีงบประมาณที่จะนำมาใช้บริหารราชการแผ่นดินอย่างเพียงพอ พร้อมยืนยันการดำเนินงานทุกโครงการของรัฐบาลเป็นไปตามขั้นตอนของหลักเกณฑ์ด้านการเงินการคลัง ซึ่งทุกโครงการที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ ประโยชน์ที่จะได้รับ งบประมาณที่จะใช้ และสามารถใช้งบประมาณดำเนินการได้
“ให้กระทรวงการคลังชี้แจง หน้าที่ผมทำงานขับเคลื่อนประเทศ หน้าที่ฝ่ายกระทรวงการคลัง ฝ่ายหนี้สาธารณะเขาดูอยู่ว่าที่สั่งไปแล้ว ก่อนที่จะอนุมัติเขากลั่นกลองมาแล้ว…ถ้ารัฐบาลปฏิรูปแต่ทุกคนไม่ปฏิรูปมันก็เป็นแบบเดิม ผมไม่เคยดูถูกความคิดใคร คิดแบบผมคิดซิ ถ้าคิดแต่แบบนี้มัวแต่คอยดึงขาผมอยู่นี้แหละ ผิดไปว่ามา ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ใช้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังยืนยันฐานะการคลังของประเทศไม่ได้มีปัญหา ซึ่งเงินคงคลังที่ลดลงจากช่วงที่ผ่านมา นั้นไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผลที่รัฐปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินอย่างแน่นอน โดยย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้ถังแตกจนต้องปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตดังกล่าว แต่การปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นเพื่อสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากภาษีน้ำมันไม่ได้มีการปรับขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ในขณะที่ภาษีน้ำมันประเภทอื่นมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยที่ 3-6 บาท/ลิตร ดีเซลอยู่ที่ 5 บาท/ลิตร ซึ่งมองว่าจะไม่เป็นธรรม
นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคำถามที่ว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยสารเครื่องบินแพงขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในส่วนนี้อยากให้มองว่าการเดินทางโดยรถบขส.ที่ใช้น้ำมันดีเซลนั้น ผู้โดยสารต้องเสียภาษีลิตรละ 5 บาท ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยแต่กลับต้องแบกภาระภาษีน้ำมันค่อนข้างมาก สวนทางกับผู้ที่เรียกตัวเองว่ามีรายได้สูง เดินทางด้วยการโดยสารเครื่องบิน แต่เสียภาษีน้ำมันเพียง 20 สตางค์/ลิตร ดังนั้นตรงนี้จึงมีความชัดเจนว่ารัฐบาลทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการขึ้นภาษีน้ำมันนี้ทำให้ราคาค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น อาจจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ในขณะที่รัฐบาลพยายามจะกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้น รมว.คลัง ถามกลับว่าแล้วคนที่มีรายได้น้อยไม่ท่องเที่ยวหรืออย่างไร อยากให้เข้าใจตรงนี้ด้วย
“ยอมรับว่า เงินคงคลังที่ลดลง 7 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นเรื่องจริง แต่เป็นไปตามนโยบายที่เพิ่งได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะรับได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดรายจ่ายด้านดอกเบี้ยจากที่ต้องกู้เงินคงคลังมาไว้โดยที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เกิดภาระค่าดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันเงินคงคลังที่ระดับ 1 แสนล้านบาทต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ระดับ 2 พันล้านบาท ” นายอภิศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางได้เสนอตัวเลขออกมาว่า เงินคงคลังควรอยู่ที่ระดับ 50,000-100,000 ล้านบาท โดยระดับเงินคงคลังที่ 1 แสนล้านบาทจะอยู่ในช่วงก่อนการจ่ายเงินเดือน และค่าสวัสดิการต่างๆ แต่เมื่อจ่ายไปแล้วระดับเงินคงคลังจะเหลืออยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท