WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม 2567 ติดต่อเรา
ไทยพาณิชย์แจงเหตุสลด!ทำให้มีผู้ถูกสังเวย 8 ศพ

scb20150208

14 มีนาคม-ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุการณ์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน บริเวณชั้นใต้ดิน จนทำให้มีผู้คนเสียชีวิต เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2559 เวลาประมาณ 21.30 น. นั้น ธนาคารขอเรียนชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินงานปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยเพิ่มเติม เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้ระบบก๊าซไพโรเจนเป็นสารตั้งต้นในการป้องกันอัคคีภัยมาเป็นระบบ Clean Agent ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ก๊าซไนโตรเจนในการดับเพลิง ซึ่งยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันอัคคีภัยด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยได้มีการว่าจ้างบริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด ให้เป็นผู้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 ตามแผนที่ได้วางไว้

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 คนและได้รับบาดเจ็บจำนวน 7 คน ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีทางศาสนาแก่ผู้ที่เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น ผู้บริหารของธนาคารได้เข้าเยี่ยมทุกรายและได้มอบความช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 30,000 บาท

สำหรับการสืบสวนหาสาเหตุนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. พร้อมเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ธนาคารขอยืนยันว่าเอกสารสำคัญและทรัพย์สินต่างๆ ของลูกค้าและธนาคาร รวมถึงระบบปฏิบัติงานภายในและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด และธนาคารยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

ไพโรเจน คืออะไร
ทางด้าน รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์สาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขยายความถึง สารดับเพลิง “ไพโรเจน” PYROGEN (ย่อมาจาก Pyrotechnically Generated) เป็นสารดับเพลิงที่ไม่นำไฟฟ้า ได้รับการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาจากแนวความคิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด เมื่อเก็บรักษาจะอยู่ในรูปของแข็ง แต่เมื่อใช้งานหรือทำปฏิกิริยา ก็จะกลายสภาพเป็นส่วนผสมของก๊าซ มีลักษณะการกระจายทั่วทิศทางจนเต็มพื้นที่ป้องกัน

Pyrogen1
ไพโรเจนมีลักษณะเป็นถังสามารถทำงานคือฉีดสารดับเพลิงออกมาได้ด้วยตัวของมันเอง จัดว่าเป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสารหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทน HALON ที่ถูกห้ามใช้งานไป

นอกจากนี้ ไพโรเจน ยังใช้หลักการดับเพลิงทางเคมี โดยใช้กระแสไฟฟ้าหรือความร้อนเพื่อทำให้สารไพโรเจนที่อยู่ในรูปของแข็งเกิดปฏิกิริยาเคมี กลายสภาพเป็นส่วนผสมของควันและก๊าซฉีดออกมาด้วยแรงดันจากตัวถังฟุ้งกระจายไปทั่วปริมาตรของห้องที่ต้องการดับเพลิง โดยในส่วนของควันที่เกิดขึ้นมีส่วนผสมหลักเป็นอนุภาคของโพแทสเซียมคาร์บอเนต ที่มีขนาดอนุภาคใกล้เคียงกับอากาศ ส่วนที่เป็นก๊าซเป็นส่วนผสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซไนโตรเจนและไอน้ำรวมอยู่ด้วยกัน หรืออาจเรียกส่วนผสมของก๊าซและควันดังกล่าวว่า Aerosol
Pyrogen2

สำหรับห้องเอกสารหรือห้องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ จะไม่ใช้ระบบดับเพลิงที่ใช้น้ำ แต่จะใช้ก๊าซแทน ซึ่งระบบนี้เรียกว่า “ไพโรเจน” เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ที่เซ็นเซอร์จับได้ในระดับที่ตั้งค่าไว้ ถังดับเพลิงระบบไพโรเจน Pyrogen Aerosol firefighting agent จะทำงาน โดยผลิตก๊าซอื่นมาแทนที่ออกซิเจน ทำให้บริเวณไฟไหม้ไม่มีออกซิเจน และไฟก็ดับลง ก๊าซที่มาแทนที่ออกซิเจน หรือมาช่วยดับไฟนั้นคือ คาร์บอนไดออกไซด์ ผสมไนโตรเจน และละอองน้ำ สามตัวนี้ไม่ติดไฟ ช่วยดับไฟ แต่คนที่หลงติดอยู่บริเวณนั้น ก็จะขาดอากาศหายใจ ยิ่งอยู่ในอาคารปิด อากาศภายนอกเข้ามาแทนที่ยาก ก็ยิ่งยากที่จะรอดชีวิต

การที่ไฟจะติดเมื่อองค์ประกอบครบ 3 อย่าง คือ แหล่งกำเนิดไฟ เชื้อเพลิง และออกซิเจน (อากาศ) ดังนั้นสารเคมีที่จะดับไฟได้ ต้องทำให้ 3 องค์ประกอบนั้นสูญเสีย โดยวิธีที่ง่ายสุดคือ ทำให้ไม่มีอากาศ หรือเอาก๊าซอื่นที่ไม่ติดไฟไปแทนอากาศนั่นเอง

จุดเด่นของระบบไพโรเจน
1. ประสิทธิภาพสูงประหยัดพื้นที่ เราสามารถนำถังไพโรเจนที่มีขนาดเล็กไปติดตั้งบนเพดาน, ผนัง, ใต้พื้นยก หรือในตู้ไฟฟ้าได้
2. ประหยัดค่าใช้จ่าย และติดตั้งง่าย เนื่องจากระบบดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจนเป็นลักษณะ Modular Design ไม่ต้องมีการเดินท่อก๊าซเหมือนระบบดับเพลิงแบบเก่า เพียงเดินสายไฟฟ้าจากตู้ควบคุมไปที่ถังแต่ละถัง ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกกว่าระบบดับเพลิงอัตโนมัติระบบอื่น
3. ระบบมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้การเพิ่มลดเปลี่ยนแปลงในอนาคตทำได้อย่างง่ายดาย เพียงให้มีปริมาณถังเพียงพอต่อปริมาตรของพื้นที่ป้องกันภัยตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เท่านั้น
4. เทคโนโลยีล่าสุดใช้ถังไม่มีแรงดัน โอกาสที่สารจะรั่วออกจากถังจึงเป็นศูนย์ จึงไม่เป็นภาระในการบำรุงรักษาเหมือนระบบอื่นที่ใช้ถังอัดแรงดันสูง ซึ่งมีโอกาสรั่วซึมในอนาคต

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP