WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอังคาร ที่ 8 กรกฎาคม 2568 ติดต่อเรา
สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยผลงาน 1 ปีที่ผ่านมา เป็นไปตามแผน Quick Win พร้อมเดินหน้าต่อในทุกมิติ

14 พฤษภาคม 2567  :  ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นมา คณะกรรมการบริหาร  สมาคมฯ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารฯ ประจําปี 2566-2568 ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแผน Quick Win ตามทิศทางของแผนยุทธศาสตร์สมาคมฯ ซึ่งเห็นผลก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามที่กําหนด ทั้งการควบรวมสํานักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (Insurance Premium Rating Bureau: IPRB) และบริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าเนท จํากัด (Thai Insurers Datanet Co., Ltd.: TID) เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยไทย จํากัด หรือ TIRD

การผลักดันให้เกิดการกํากับดูแลกันเองของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยและการเปิดเสรีธุรกิจประกันวินาศภัยในบางมิติ การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย (Regulatory Guillotine) กับ สํานักงาน คปภ. การควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของการประกันภัยสุขภาพ และศึกษามาตรการเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษี รวมถึงการจัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยในเชิงรุก

"ตนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าผลของการดำเนินงานของสมาคมในช่วงที่ผ่านมานั้นจะส่งผลดีต่อธุรกิจประกันภัยในทุกๆ มิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ (คปภ.)ให้สมาคมฯ สามารถที่จะมีการกำกับดูแลกันเองได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันทางสำนักงานคปภ. ยังมีการผ่อนคลายในเรื่องของการกำกับดูแลในบางมิติให้กับสมาคมประกันวินาศภัยทำให้เกิดการขยับเขยื้อนของธุรกิจประกันภัยไปได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะมาตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สามารถที่จะมาแก้ปัญหาในเรื่องของ pain point ของประชาชน เพื่อให้มีการสร้าง Ecosystem ช่วยให้เปิดโอกาสของการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา เพื่อจะสนับสนุนให้แก่บริษัทประกันภัยนั้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้แข็งแรงมากขึ้น สามารถที่จะตอบสนองต่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบบัญชี IFRS 17 ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้


ดร.สมพรกล่าวต่อไปว่า  เรื่องที่เป็น pain point ของอุตสาหกรรมประกันภัย คือ อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงมีมติให้ คณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ตั้ง คณะแพทย์ที่ปรึกษาทางด้านประกันอุบัติเหตุและสุขภาพขึ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของสมาคมฯ โดยมีคณะแพทย์ที่ปรึกษาของสมาคมฯ ขึ้นมา     โดยมีท่านเหล่านี้เข้ามาช่วยกันกำหนดทิศทางที่เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลให้เกิดความเป็นธรรมในทุกฝ่าย

"ปัจจุบันอัตราค่ารักษาพยาบาล เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญมาก ถึงแม้ว่าทางสมาคมประกันวินาศภัยหรือแม้กระทั่งสมาคมโรงพยาบาลภาคเอกชน พยายามกำหนดอัตรากลางขึ้น แต่อัตราการนั่นก็เป็นอัตราการที่แต่ละสถานพยาบาลสามารถกำหนดกันเองได้ ข้อกำหนดคือจะต้องประกาศให้ประชาชนทราบ เพราะฉะนั้นค่ารักษาพยาบาลของแต่ละสถานพยาบาลก็มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากซึ่งขณะนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยจึงพยายามที่จะพูดคุยกับสมาคมประกันชีวิตไทยรวมไปถึงสมาคมโรงพยาบาลเอกชนว่าจะหาแนวทางในการแก้ไขร่วมกันอย่างไร"

ในขณะที่ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยก็ได้เตรียมแผนสำรองไว้ โดยจะมีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยสุขภาพตามลักษณะของโรงพยาบาล ยกตัวอย่าง

กลุ่มที่ 1 ถ้าผู้เอาประกันภัยซื้อเฉพาะในลักษณะความคุ้มครองของโรงพยาบาลของภาครัฐเท่านั้น เบี้ยประกันภัยก็ค่อนข้างประหยัด
กลุ่มที่ 2 ผู้ประกันภัยซื้อประกันภัยสำหรับเข้าโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่ง ราคาเบี้ยประกันก็จะเพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้เบี้ยประกันภัยสุขภาพไม่ได้กำหนดกลุ่มของโรงพยาบาลเอาไว้ ถ้าซื้อประกันไว้ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ที่สะดวกและใกล้บ้าน
กลุ่มที่ 3 ซื้อเบี้ยประกันเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน อัตราเบี้ยประกันก็จะราคาสูงกว่าทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น

โดยทั้ง 3 แบบสามารถที่จะเป็นแนวทางให้กับประชาชนสามารถเลือกซื้อได้ตามความเสี่ยงและศักยภาพทางการเงินของผู้บริโภค

ดร.สมพรยังกล่าวต่อไป ถึงเรื่องการฉ้อฉลของประกันสุขภาพ ขณะนี้สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับทางสำนักงานคปภ. สร้างโครงการ Utilization of Insurance Bureau System Data เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) ที่มีความสมบูรณ์ในระดับที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยบริษัทประกันภัยได้มีการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบนี้ถึง 98% การที่มีข้อมูลที่ดีในระดับนี้ก็ทำให้เราสามารถวิเคราะห์เรื่องของการใช้สิทธิ์ของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องของการประกันภัยว่า มีการใช้สิทธิ์โดยชอบหรือไม่ชอบ ทำให้เราสามารถที่จะตรวจสอบเรื่องของการไม่สุจริตได้ ไม่ว่าการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตจะเกิดขึ้นจากผู้เอาประกันภัยเองโดยตรงหรือเกิดขึ้นจากสถานพยาบาล

ถ้าพบว่าเกิดขึ้นจากสถานพยาบาล ทางสมาคมฯ ก็จะส่งแพทย์ที่ปรึกษาที่มีการตั้งขึ้นมาแล้วเข้าไปพูดคุยกับสถานพยาบาลดังกล่าวโดยตรง หากพบว่าสถานพยาบาลอาจจะใช้สิทธิ์ไม่ชอบและยังมีเจตนากระทำผิด ต่างๆ ทางสมาคมฯ ก็อาจจะมีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะไม่รับเรื่องของการวางบิลจากสถานพยาบาลดังกล่าว โดยมาตรการต่างๆ ที่ทั้งสองสมาคมฯ จะร่วมมือกันในการดำเนินงานที่จะพยายามทำให้ค่ารักษาพยาบาลนั้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลนั้นได้ในราคาที่เหมาะสมเช่นกัน

ในขณะเดียวกันต่อประเด็นในเรื่อง "การประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า  EV"ดร.สมพร กล่าวต่อไปว่า ทางสมาคมฯ มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพื่อจะศึกษาแนวโน้มและการพัฒนาของค่าสินไหมทดแทนที่กิดขึ้น เพื่อมีการปรับแก้ปัญหาต่างๆ และในเร็วๆ นี้ ทางสำนักงานคปภ. จะมีประกาศกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้า ฉบับใหม่ เพื่อให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันรถยนต์ไฟฟ้า 11 แห่ง ได้ทราบและมีความเข้าใจตรงกันด้านการรับประกันภัยและความคุ้มครอง


อย่างไรก็ดี ปัญหาของรถยนต์ EV ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ อัตราค่าซ่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของแบตเตอรี่นั้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดการบุบสลายทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ใช้รถว่า จะสามารถใช้รถคันนี้ต่อไปได้หรือไม่  จึงเป็นที่มาของการต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูก ซึ่งแบตเตอรี่นั้นก็มีมูลค่าแพงมาก มีมูลค่าสูงถึง 60 ถึง 70% ของตัวรถ ทำให้มูลค่าความเสียหายของรถ EV นั้นสูงอย่างมหาศาล กรมธรรม์ประกันภัยรถไฟฟ้าฉบับใหม่ที่จะออกมานี้จะออกมาแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะโดยจะต้องมีการระบุชื่อผู้ขับขี่ และกำหนดความคุ้มครองไว้ตามขั้นบันไดที่ลดลง 10% ในแต่ละปี

ยกตัวอย่าง รถปีแรกทำประกันภัยก็ได้รับความคุ้มครองเต็ม 100% และหลังจากนั้นในแต่ละปีมูลค่าความคุ้มครองก็จะลดลงปีละ 10% ในปีที่ 2 ความคุ้มครองเหลือ 90% คุ้มครองแบตเตอรี่ลดลงไป 10% ในปีที่ 3 ลดลงไป 20% เหลือความคุ้มครอง 80% เป็นต้นโดยกรมธรรม์รูปแบบใหม่นี้ เปิดโอกาสให้ผู้เอาประกันภัย สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ เพื่อที่จะรักษาความคุ้มครองให้เต็ม 100% ดังเดิม โดยจะที่เป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยสลักหลังในแต่ละปี อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเทคโนโลยีที่จะพัฒนาขึ้นมาในอนาคตอาจจะพัฒนาเป็น module ได้ หากมีการชำรุดเสียหายก็สามารถเปลี่ยนได้แบบเฉพาะโมดูลได้

ดร.สมพร ยังกล่าวต่อไปถึง ประเด็นเรื่อง "การประกันนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ" สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยขณะนี้สมาคมฯ มีแนวความคิดว่าจะจัดให้มีการ "ประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว" โดยอาจจะนำค่าธรรมเนียมหรือค่าเหยียบแผ่นดินส่วนหนึ่งมาเป็นเบี้ยประกันภัย เพื่อใช้ในการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยแนวความคิดพื้นฐานคือความคุ้มครองจะต้องไม่น้อยไปกว่าความคุ้มครองของกองทุนฯ ที่เคยมีในเรื่องของการเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในกรณีเสียชีวิต 1 ล้านบาท กรณีที่ได้รับบาดเจ็บก็จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 500,000 บาท

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นทางสมาคมฯ มีแนวคิดที่จะขยายความคุ้มครองไปในกรณีที่เกิด "ภัยจราจลหรือเครื่องบินดีเลย์" ที่ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศไทยได้ กรมธรรม์ก็จะให้ความคุ้มครองในเรื่องนี้เสริมเข้ามาด้วย รวมไปถึงในกรณีที่หากนักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุโชคร้ายเสียชีวิต กรมธรรม์ก็จะให้ความคุ้มครองกรณีนำส่งร่างกลับสู่ภูมิลำเนาด้วย สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นตัวอย่างของการปรับเพิ่มความคุ้มครองให้กับนักท่องเที่ยวและเชื่อว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นมาจริงก็จะเป็นผลดีต่อนักท่องเที่ยวเป็นผลดีต่อรัฐบาลรวมไปถึงผลดีต่ออุตสาหกรรมประกันวินาศภัย


ส่วนพันธกิจทั้ง 4 ด้าน เพื่อทําหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน มีดังนี้

พันธกิจที่ 1 ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนขับเคลื่อน ESG (Environment, Social and Governance) ในธุรกิจประกันวินาศภัย ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นความจำเป็นของการประกันภัยสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการประกันวินาศภัยและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับให้ประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องมากขึ้น ประกอบด้วย การแถลงข่าวประจำปีของสมาคมฯ และประเด็นสำคัญ ๆ ของธุรกิจประกันวินาศภัย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทางออนไลน์ ในรูปแบบสื่อ infographic ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก

การขับเคลื่อน ESG (Environment Social and Governance) ในธุรกิจประกันวินาศภัยไทย

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัดทำแนวทางการประยุกต์ใช้ ESG ในมิติต่าง ๆ ให้เข้ากับกิจกรรมในธุรกิจประกันวินาศภัย และกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อให้ ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงศึกษาข้อมูล และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับ Carbon Credit เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจประกันภัย โดยการสร้างความเข้าใจผลกระทบของการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่มีต่อภาคขนส่งและโลจิสติกส์

พร้อมติดตามผลการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และขยายผลการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร เปลี่ยนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่แห้งแล้งเป็นทุ่งกุลายิ้มได้ที่มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอและยั่งยืน

พันธกิจที่ 2 ยกระดับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐ และเอกชน

สมาคมประกันวินาศภัยไทย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชน สนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจและการมุ่งสู่การเปิดเสรีในบางมิติ และการผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการทำประกันวินาศภัยในทุกระดับและทุกมิติเพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยงและแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ได้แก่

1. โครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2567/68 โดย สมาคมฯ ได้จัดทํากรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการดำเนินการ) ปีการผลิต 2567 และยื่นขอรับความเห็นแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย ไปยังนายทะเบียน สํานักงาน คปภ. ซึ่งได้นําเสนอรูปแบบการประกันภัยที่ได้ประโยชน์สูงสุดและเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐ ในการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการทําประกันภัยพืชผล

2. โครงการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย จากนโยบายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ Thailand Traveller Fee (TTF) หรือที่เรียกว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน โดยสมาคมฯ ได้นําเสนอความคุ้มครองประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติฯ ไม่น้อยกว่ากองทุนเยียวยานักท่องเที่ยวที่ได้มีการยกเลิกไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะสรุปและนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้

3. โครงการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ซึ่งได้ติดตามการนำส่งข้อมูลจากบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อนำส่งข้อมูลเข้าระบบการรายงานข้อมูลการรับประกันภัยรถภาคบังคับ CMIS แบบเรียลไทม์อย่างใกล้ชิดเพื่อรองรับการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. โดยกรมการขนส่งทางบกได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบภัยจากรถและข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

4. การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้วยการใช้ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระบบประกันภัยพืชผล ระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยการนำเทคโนโลยีดาวเทียม ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และระบบ AI & Machine Learning มาใช้ในการประกันภัยพืชผล โดยการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งได้เริ่มนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด สุโขทัย และได้มีการขยายพื้นที่การทดสอบเพิ่มเป็น 16 จังหวัด

5. โครงการ Utilization of Insurance Bureau System Data เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) ในการพัฒนาระบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการให้บริการลูกค้า รวมถึงประชาชนในหลากหลายมิติ โดยผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล IBS เพื่อนําข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาพรวมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่ง สมาคมฯ และ สํานักงาน คปภ. ได้ร่วมกันจัดงาน Kickoff การใช้ข้อมูลจากระบบ Non-Life IBS และพร้อมส่งมอบรายงานให้กลับบริษัทสมาชิก

พันธกิจที่ 3 พัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจประกันภัยให้เป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจประกันภัยให้เป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้บุคลากรให้เข้าสู่ระบบธุรกิจประกันวินาศภัย และพัฒนาบุคลากรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และการปรับเปลี่ยนให้สมาคมฯ เป็นองค์กรที่ทันสมัย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย ผ่านโครงการ Insurance Professionalism & Self-Empowering Project (IPSP) การอบรมโครงการพัฒนาผู้บริหารธุรกิจประกันวินาศภัย รุ่นที่ 27 (IMDP 27)

การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย ด้านกฎหมาย และมาตรฐานทางด้านบัญชี ผ่านการอบรมและสัมมนาต่าง ๆ การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และแนวทางการวางระบบกำกับดูแลข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย การอบรม E-Learning หลักสูตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของสถาบันการเงิน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของสมาคมฯ ในการทํางานเชิงรุก ทั้ง Soft Skill & Hard Skill เพื่อนําองค์กรไปสู่ “Modern & Smart Organization”

พันธกิจที่ 4 เสริมสร้างระบบนิเวศประกันภัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

สมาคมประกันวินาศภัยไทย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชน โดยสนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ครอบคลุมทุกด้าน (PDPA Guideline for Non-life Insurance Industry) เพื่อสร้างความเข้าใจให้บริษัทสมาชิกสามารถปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้เตรียมความพร้อมในการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (TFRS17) ผลกระทบทางด้านภาษีอากรจากมาตรฐาน TFRS 17 ของธุรกิจประกันวินาศภัยให้กับบริษัทสมาชิก และผลักดันการพัฒนาระบบการจัดการฉ้อฉลและแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลประกันกัยของธุรกิจประกันวินาศภัย จัดทำโครงการพัฒนาระบบแผนที่และแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมถึงจัดทำระบบศูนย์กลางตรวจสอบเพื่อป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยสุขภาพ

พร้อมศึกษาพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ กรมธรรม์ประกันภัยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BEV) และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยชดเชยผลประโยชน์จากอุบัติเหตุหรือการใช้รถยนต์ (Motor Add on) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย 

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP