2 ธันวาคม 2567 : นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้บริหาร จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชน ภายใต้โครงการ “อยากเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง” ครั้งที่ 11 ตอน “มั่นใจ…ทันใจ…วางใจ มาตรฐานบริการสินไหมทดแทน จากวิริยะประกันภัย” เพื่อบอกเล่าถึงกระบวนการดำเนินงานด้านสินไหมทดแทนของบริษัทฯ ที่มีหัวใจหลัก คือ ความรวดเร็วและมาตรฐานการบริการ ซึ่งบริษัทฯ ได้มุ่งเน้นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดรถยนต์เดิมทีคาดการณ์ว่าจะจำหน่ายได้มาก แต่มาปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ว่าจะเป็นรถสันดาปหรือว่ารถ EV ยอดขายไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายเดิมทีประมาณการไว้ ซึ่งปีนี้เดิมประมาณการว่าจะมีรถใหม่ประมาณ 800,000 คัน มาถึงขณะนี้ไม่แน่ใจว่าสิ้นปีจะถึง 600,000 คันหรือไม่ ซึ่งก็มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวแปรของยอดจำหน่ายรถยนต์ ทั้งความลังเลใจในการตัดสินใจซื้อรถของประชาชนว่าจะเลือกรถยนต์ประเภทไหนดี ไฮบริดหรือ EV
ดังนั้นทิศทางของธุรกิจประกันภัยปีนี้ที่บริษัทฯ ตั้งเป้าไว้คงจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อย โดยมีปัจจัยของการตัดสินใจซื้อของผู้เอาประกันรวมถึงเรื่องกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่หายไปจากตลาดอย่างชัดเจนก็จะเห็นว่าเป็นรถกระบะ ปัจจัยส่วนหนึ่งอาจจะมาจากภาวะเศรษฐกิจรวม เกษตรกรที่มีรายได้น้อยลงขาดกำลังซื้อ ดังนั้นตลาดประกันภัยที่หลายๆบริษัทวางแผนไว้นั้นเป้าหมายก็อาจจะไปไม่ถึง
ส่วนทางด้านของวิริยะประกันภัยเองเดิมที่ตั้งเป้าไว้ก็ตัวเลขเบี้ยประกันรับปี 67 ที่ 38,000 ล้านบาท อาจจะลดลงมานิดหน่อย หรืออาจจะพอดีกับเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ยังเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะถึงแม้ว่ารถยนต์ป้ายแดงอาจจะลดลงไป แต่รถประกันต่ออายุหรือว่ารถป้ายดำยังมีการทำประกันอย่างต่อเนื่องกว่า 80% จึงทำให้ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจมียอดเบี้ยประกัน 10 เดือนมีประมาณ 33,241.46 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันรถยนต์ภาคสม้ครใน 29,452.96 ล้านบาท (รวมรถ EV ที่มีเบี้ยรับกว่า 1,103 ล้านบาท รวม 49,000 กรมธรรม์) และที่เหลือเป็น Non-Motor 3,761.50 ล้านบาท
นายสยม กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานการณ์รถ EV ทั้งผู้จำหน่ายและบริษัทรับประกันภัยต่างก็ใหม่ ดังนั้นค่าแรงค่าซ่อมยังไม่มีมาตรฐานที่แท้จริง ซึ่งการคิดอัตราเบี้ยประกันภัยขณะนี้จะต้องมีการเผื่อราคาไว้ เพื่อให้รับมือสินไหมทดแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ และระหว่างทางที่ทำประกันนั้นจะต้องมาพิจารณาเรื่อง อัตราการเคลม เพื่อเก็บสถิติงานต่ออายุเบี้ยประกันในปี 2 ปี 3 ควรเป็นอย่างไรเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม "วิริยะ" ยืนยันไม่ปฏิเสธรับประกันภัยรถ EV เนื่องจากคู่ค้าของบริษัทฯ ที่จำหน่ายรถ EV บางคนก็เป็นพันธมิตรที่เคยจำหน่ายรถยนต์สันดาปมาก่อน ดังนั้นเราจะไม่ทิ้งกันแน่นอน
ส่วนทางด้านมาตรการดูแลรถหลังจากเกิดเหตุ กรณีรถยนต์สันดานหากน้ำท่วมถึงหลังคาก็ถือว่าเป็นการคืนทุนประกันภัย แต่รถ EV ตัวแปรสำคัญ คือ "แบตเตอรี่" ซึ่งมีราคาก็ประมาณ 70% ของตัวรถ ฉะนั้นถ้าแบตเตอรี่เสียก็ต้องนำรถไปที่ห้างตัวแทนจำหน่ายก่อน เพื่อให้พิจารณาและประเมินว่าควรจะซ่อมหรือจะเปลี่ยน ในขณะที่ทางด้านข้อกฎหมายใหม่ของกรมธรรม์ประกันรถ EV ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้นั้น ความคุ้มครองของแบตเตอรี่ ในปีแรกคุ้มครองเต็ม 100% ปีที่ 2 ลดลงมา 10% เหลือ 90% ปีที่ 3 ลดลงมาอีก 10% เหลือ 80% เป็นต้น
สมมุติว่าใช้รถมา 2 ปี เข้าสู่ปีที่ 3 บังเอิญเกิดเหตุว่าจะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ แต่บริษัทฯ คุ้มครองแบตเตอรี่เพียง 80% ไม่ใช่ 100% ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งบริษัทประกันภัยภายใน 30 วันว่า ขอเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่แล้วจ่ายเบี้ยเพิ่มเพื่อ cover แบตเตอรี่ให้ถึง 100% แต่ถ้าลูกค้าไม่แจ้งภายใน 30 วัน บริษัทก็จะอิงกับเงื่อนไขว่ารถปี 3 ก็ความคุ้มครองหายไป 20% หรือคุ้มครองเพียง 80% เท่านั้น ดังนั้นเรื่องแบบนี้จะต้องมีการสื่อสารกันตั้งแต่เริ่มรับประกันภัยว่าเวลาซื้อประกันจะคุ้มครองแบตเตอรี่เท่าไหร่อย่างไร รวมถึงเมื่อใช้รถไปแล้ว 1-2 ปีถ้าหากจะเปลี่ยนแบตเตอรี่คุณจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อที่จะ cover battery ให้ราคาคงที่ 100% ซึ่งต้องเพิ่มเบี้ยเพียงเล็กน้อย
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบริการด้านสินไหมทดแทนของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อตอบรับกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรค่ายรถยนต์ ในการร่วมกันกำหนดแนวทางในการรับประกันภัย ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้แก่พนักงาน รวมถึงศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัยทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความ “มั่นใจ” ว่าจะได้รับการบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยบริการที่ “ทันใจ” จากการเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงภัยในทุกสถานการณ์ และ “วางใจ” ในบริการที่เป็นธรรมจากวิริยะประกันภัย
ส่วนทางด้านสถานการณ์สินไหมทดแทน ปีนี้ทำสถิติเพิ่มขึ้นประมาณ 6% มียอดสินไหมโดยรวมประมาณกว่า 600,000 เคลม คิดเป็นสินไหมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเคลมที่พนักงานสำรวจภัยออกไปให้บริการในทันที หรือ เคลมสด 200,000 กว่าเคลม ส่วนอีกกว่า 400,000 เคลม ส่วนใหญ่เป็นเคลมที่ไม่มีคู่กรณีต้องนัดหมาย หรือเคลมแห้ง โดยบริษัทก็มีทางเลือกให้กับลูกค้า ตามความประสงค์และความสะดวกของลูกค้า หรือจะเคลมทางวีดีโอคอลก็ได้ โดยสามารถส่งลิงค์ให้ลูกค้ากรอกรายละเอียดกลับมาทำเคลมได้ทันที เรียกว่า นวัตกรรมบริการ VClaim on VCall หรือ ผ่าน ศูนย์ 1557 ก็สามารถที่จะโทรสอบถามเพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกไปทำเคลมให้ได้ เป็นต้น
โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีเจ้าหน้าที่พร้อมรองรับการให้บริการงานด้านสินไหมทดแทนกว่า 2,000 คน มีศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนทั่วประเทศ กว่า 90 แห่ง และจุดตรวจสอบอุบัติเหตุอีกหลายแห่ง รวมถึงการนำนวัตกรรมบริการ VClaim on VCall มาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเคลมประกันออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังกำหนดแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัย ให้ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมระดับสากล และพร้อมด้วยคุณภาพการบริการที่เป็นเลิศ ดั่งกลยุทธ์ “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า”