WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม 2567 ติดต่อเรา
“ประกันพืชผล”เดินเครื่องเต็มสูบ

สำนักงาน คปภ. ยกร่างกฏหมายผลักดันประกันภัยพืชผลสู่วาระแห่งชาติ พร้อมตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมากำกับดูแลอย่างเป็นระบบ ประเดิมสร้างเครือข่ายกระจายความรู้ด้านการประกันภัย “Training for the trainers” ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดนำร่อง

IMG_7658

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ได้สรุปข้อเสนอการปฏิรูปการประกันพืชผล เป็น 2 แนวทาง คือแนวทางปฏิรูประยะสั้น และระยะยาว

โดยแนวทางการปฏิรูประยะสั้น จะการเพิ่มพื้นที่เป้าหมายให้มากขึ้นเพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยง การขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเป็น 3-5 ปี เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อเกษตรกรและผู้รับประกันภัย แต่เบี้ยประกันภัยถูกลง ซึ่งระยะสั้นนี้ควรเป็นการปฏิรูปการประกันภัยข้าวก่อนแล้วจึงขยายผลไปยังพืชอื่น

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ให้ดำเนินโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) ประเดิมที่แรกจังหวัดแรกพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช ประธานคณะกรรมการทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ โดยมี นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมรับการอบรมประมาณ 200 คน

367A8630

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้กับผู้เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง อาทิ เกษตรกรจังหวัด เกษตรอำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด อบจ. อบต. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ในลักษณะการสร้างเครือข่ายด้านองค์ความรู้และความเข้าใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักดันให้การประกันภัยพืชผลเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกร โดยคปภ.มีแผนเดินสายให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับเกษตรกรใน 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงราย และนครศรีธรรมราช เป็นลำดับเพื่อให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค

สำหรับแนวทางปฏิรูปการประกันภัยพืชผลระยะยาว เลขาธิการ คปภ. ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ให้การประกันภัยพืชผลเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลเพื่อเสนอต่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรวมทั้งเสนอให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยการเกษตรสำหรับประเทศไทย ที่ครอบคลุมการประกันภัยการเกษตร และปศุสัตว์

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผลระดับนโยบายโดยเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานและรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ การกำหนดกรอบภารกิจ ลักษณะการประสบภัย ชนิดของสินค้าเกษตร และเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกร การประเมินค่าเสียหายและการจ่ายค่าสินไหมทดแทน การกำหนดบริษัทที่จะเข้ามารับทำประกันภัย การหามาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งการกำหนดบทลงโทษ เป็นต้น

367A8614

ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากยอดตัวเลขโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 92,064 ราย พื้นที่ประมาณ 1.5 ล้านไร่ คุ้มครองภัย 7 ประเภท คือ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือไต้ฝุ่น อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ ศัตรูพืชและโรคระบาด โดยปีการเพาะปลูกปี 2559 นี้สำนักงาน คปภ. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมทำประกันภัยพืชผล 3-5 ล้านไร่ทั่วประเทศ

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP